เรียนท่านผู้มีอุปการะคุณ ที่เข้ามาเยี่ยมชม สมองสองซีก ตอนนี้ทางทีมงานได้ย้ายไป link ใหม่ตาม นี้ขอรับ http://g-sciences.blogspot.com ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามขอรับ

วันจันทร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ. 2552

"เอช จี เวลล์" เชคสเปียร์แห่งวงการนิยายวิทยาศาสตร์


เอช จี เวลล์ (wikipedia)


นอกจาก "จูลส์ เวิร์น", "อาเธอร์ ซีคลาร์ก", "ไอแซค อาซิมอฟ" นักเขียนไซ-ไฟระดับเวิร์ลคลาสที่คนไทยผู้นิยมนิยายวิทยาศาสตร์จะรู้จักกันดี แล้ว "เอช จี เวลล์" เป็นนักเขียนไซ-ไฟอีกคนที่เราต้องคารวะในความสามารถ ผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น "เชคสเปียร์" แห่งวงการวิทยาศาสตร์

เอ่ยชื่อ "เอช จี เวลล์" (H.G. Wells) หรือ เฮอร์เบิร์ท จอร์จ เวลล์ (Herbert George Wells) บางคนอาจทำหน้างงๆ ว่าเขาคือใคร แต่ถ้าพูดถึงภาพยนตร์ War of the Worlds หรือในชื่อภาษาไทยว่า "อภิมหาสงครามล้างโลก" ที่ได้ "ทอม ครูส" และสาวน้อย "ดาโกตา แฟนนิง" เป็นนักแสดงนำ หลายคนคงพยักหน้ารู้จักภาพยนตร์ไซ-ไฟ (Sci-fi) เรื่องนี้ และเวลล์คือนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ผู้สร้างต้นฉบับเรื่องนี้และได้กลาย เป็นภาพยนตร์ในเวลาต่อมา


หน้าปกหนังสือ เดอะ ไทม์ แมชีน ฉบับตีพิมพ์ครั้งแรก (wikipedia)


รศ.ดร.ชัยวัฒน์ คุปตะกุล นักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์แถวหน้าของเมืองไทย เล่าให้ฟังว่า เอช จี เวลล์ เป็นนักเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ชาวอังกฤษที่มีชีวิตอยู่ระหว่าง 21 ก.ย.2409 - 13 ส.ค.2489 หากพูดถึงนิยายวิทยาศาสตร์ระดับโลกแล้ว มีนักเขียนที่อยู่ในฐานะ "บิดานิยายวิทยาศาสตร์" 2 คน คือ จูลส์ เวิร์น (Jules Verne) และ เอช จี เวลล์

ก่อนหน้านั้นก็มีผู้นิยายไซ-ไฟแนวสยองขวัญ แต่ได้สร้างจินตนาการทางวิทยาศาสตร์ขึ้นเอง ซึ่งเวิร์นนับเป็นคนแรกที่เขียนนิยายวิทยาศาสตร์ โดยอยู่บนพื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเป็นไปได้จริง

ความแตกต่างระหว่างผลงานของเวิร์นและเวลล์คือ เวิร์นจะสร้างงานเขียนในด้านเทคโนโลยีและสิ่งประดิษฐ์ ขณะที่เวลล์ซึ่งเขียนนิยายบนพื้นฐานวิทยาศาสตร์เช่นกัน จะเปิดกว้างงานเขียนที่ไม่จำกัดเพียงเรื่องเทคโนโลยี โดยผลงานไซ-ไฟเรื่องแรกของเวลล์คือ "เดอะ ไทม์ แมชชีน" (The Time Machine) ที่เขาเขียนขณะอายุ 29 ปี ซึ่งมีการนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ เช่นเดียวกับอีกหลายเรื่อง อาทิ "ดิ ไอส์แลนด์ ออฟ ดร.มารู" (The Island of Dr Moreau) และ "ดิ อินวิซิเบิล แมน" (The Invisible Man) เป็นต้น

ผลงานเขียนของเวลล์ ไม่เพียงแค่สร้างความบันเทิงหากแต่จินตนาการของเขาหลายเรื่องนั้น รศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่ากำลังเป็นจริงในหลายๆ เรื่อง เช่น "ดิ อินวิซิเบิล แมน" ซึ่งจัดจัดเป็นนิยายวิทยาศาสตร์บริสุทธ์ คือไม่น่าจะเกิดขึ้นจริงได้ แต่ตอนนี้นักวิทยาศาสตร์กำลังสร้างวัสดุที่เรียกว่า "เมตาแมทีเรียล" (meta material) อย่างผ้าคลุมล่องหน ที่ใกล้จะประสบความสำเร็จ หรือรถยนต์ล่องหน ซึ่งให้แสงเข้าไปในวัสดุดังกล่าวทุกทิศทุกทางแล้วออกจากวัตถุนั้นในพร้อมๆ กัน

หรือจะเรื่อง "ดิ ไอส์แลนด์ ออฟ ดร.มารู" ซึ่งพูดถึงสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่า "ไคเมรา" (Khimera) เป็นสิ่งมีชีวิตที่ท่อนหัวเป็นหญิงสาวสวยแต่ท่อนล่างเป็นสัตว์ เป็นการตัดต่อสิ่งมีชีวิตข้ามสาย ซึ่งปัจจุบันเริ่มมีการตัดต่อสิ่งมีชีวิตข้ามสายพันธุ์ระหว่างสัตว์และพืช เช่น การตัดต่อยีนของหิ่งห้อยเข้าไปในใบยาสูบ เป็นต้น

ทั้งนี้ จุดเริ่มต้นที่ทำให้เวลล์ปรารถนาที่จะเขียนหนังสือนั้น เกิดขึ้นจากอุบัติเหตุในวัยเด็กที่ทำให้เขาขาหัก เขาจึงใช้เวลาไปกับการอ่าน ซึ่งนำเขาไปสู่อีกโลกหนึ่ง แต่ด้วยสถานะทางบ้านที่ไม่ค่อยดีนัก เขาจึงต้องทำงานช่วยเหลือจุนเจือทางบ้าน และทำงานหลายอย่าง เขาเคยทำงานเป็นลูกจ้างร้านขายผักซึ่งทำให้เขาไม่มีความสุขนัก และประสบการณ์นั้นเองได้กลายเป็นวัตถุดิบในสร้างสรรค์งาน 2 เรื่อง คือ "เดอะ วีลส์ ออฟ แชนซ์" (The Wheels of Chance) และ "คิปปส์" (Kipps) ซึ่งเล่าเรื่องชีวิตของลูกจ้างขายผักและวิพากษ์วิจารณ์การกระจายความ มั่งคั่งของโลก

เวลล์เรียนชีววิทยาด้วยทุนที่โรงเรียนสามัญวิทยาศาสตร์ (Normal School of Science) ในเซาท์ เคนซิงตัน (South Kensington) ซึ่งต่อมาเปลี่ยนเป็นมหาวิทยาลัยรอยัลคอลเลจออฟไซน์ (Royal College of Science) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัยอิมพีเรียลคอลเลจลอนดอน (Imperial College London) ซึ่งแม้เขาจะผ่านทั้งวิชาฟิสิกส์และชีววิทยา แต่ด้วยความไม่สนใจธรณีวิทยา ทำให้เขาไม่ได้รับทุนต่อ

อย่างไรก็ดี เวลล์ก็ได้รับปริญญาสาขาสัตววิทยาในภายหลัง จากหลักสูตรนอกเวลาของมหาวิทยาลัยลอนดอน (University of London External Programme) โดยระหว่างศึกษาเขาได้ทำงานเป็นครูสอนหนังสือด้วย

ทว่า หนังสือเล่มแรกของเขาไม่ใช่นิยายวิทยาศาสตร์ แต่เป็นหนังสือที่มีชื่อว่า "แอนติซิแพชันส์" (Anticipations) ซึ่งเขียนขึ้นในปี 2444

รศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าวว่าคน จะจดจำบทบาทของเวลล์มากกว่าเวิร์น จนถึงขณะนี้ยังไม่มีใครที่เขียนไซไฟหลากหลายแนวเรื่องได้มากเท่าเวลล์ งานเขียนของเขาเปิดกว้างมาก และเป็นแรงจูงใจให้นักวิทยาศาสตร์รุ่นต่อๆ มา นักเขียนไซไฟที่มีความสามารถระดับน้องๆ ของ ซี คลาร์ก อย่าง ไบรอัน อัลดิสส์ (Brian Aldiss) เคยกล่าวไว้ว่า "เวลล์คือเช็คสเปียร์ของวงการไซไฟ"

" ในประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างสหรัฐฯ ฝรั่งเศส อังกฤษ วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของเขาจะก้าวหน้าไปพร้อมๆ กับไซไฟ คนไทยเองก็มีจินตนาการเยอะ น่าจะลองมาสร้างผลงานตรงนี้ ส่วนตัวผมแล้วอ่านนิยายของเขาเยอะมาก และเขายังเป็นแรงบันดาลใจในการเขียนนิยายวิทยาศาสตร์ให้ผม เหมือนกับ อาร์ซิมอฟ ซี คลาร์ก และจูลส์ เวิร์น" รศ.ดร.ชัยวัฒน์กล่าว.

thak data astv manager online

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น