เรียนท่านผู้มีอุปการะคุณ ที่เข้ามาเยี่ยมชม สมองสองซีก ตอนนี้ทางทีมงานได้ย้ายไป link ใหม่ตาม นี้ขอรับ http://g-sciences.blogspot.com ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามขอรับ

วันจันทร์ที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2552

15 ปีมีครั้งดาวเสาร์เข้าสู่ "อิควินอกซ์" เกือบไร้วงแหวน

ภาพดาวเสาร์ที่แคสซินีบันทึกไว้เมื่อวันที่ 12 ส.ค.52 หลังเกิดอิควินอกซ์ไม่นาน และเป็นภาพที่ยังไม่ผ่านการตกแต่ง (นาซา)


ยานอวกาศ "แคสซินี" จับภาพดาวเสาร์เข้าสู่ช่วง "อิควินอกซ์" นานทีมีครั้ง 15 ปีมีหน โดยนักวิทยาศาสตร์พบปรากฏการณ์ดังกล่าว ระหว่างศึกษาภาพถ่ายที่ยังไม่ผ่านกระบวนการดัดแปลงภาพ และได้พบปรากฏการณ์กลางวัน-กลางคืนยาวเท่ากัน

ทั้งนี้ อิควินอกซ์ (Equinox) คือช่วงเวลาที่ดวงอาทิตย์เคลื่อนผ่านเส้นศูนย์สูตรของดาวเคราะห์นั้นๆ แล้วทำให้กลางวันและกลางคืนยาวเท่ากัน ซึ่งล่าสุดบีบีซีนิวส์ระบุว่า ระหว่างที่นักวิทยาศาสตร์กำลังศึกษาภาพถ่ายที่บันทึกโดยยานแคสซินี (Cassini) โดยเป็นภาพถ่ายที่ยังไม่ผ่านกระบวนการตกแต่งนั้น พวกเขาได้ค้นพบปรากฎการณ์ใหม่นี้ ในระบบวงแหวนของดาวก๊าซยักษ์

ระหว่างช่วงเวลาอิควินอกซ์ในครั้งนี้ ขอบวงแหวนของดาวเสาร์จะหันเข้าตั้งฉากกับดวงอาทิตย์ และแทบไม่สะท้อนแสงอาทิตย์ออกมาเลย ซึ่งการที่เราได้เห็นวงแหวนของดาวเสาร์ก็เพราะวงแหวนดังกล่าวตั้งอยู่ในมุม สะท้อนแสงกับดวงอาทิตย์

ขณะเดียวกันมุมของดวงอาทิตย์เหนือดาวเสาร์ก็ลดต่ำลง ทำให้เห็นวัตถุและโครงสร้างที่ไม่ไม่เคยสังเกตเห็นที่บริเวณวงแหวน จากเงาที่ฉายลงบนระนาบแบนอีกด้านของวงแหวนดาวเสาร์
ภาพดาวเสาร์ที่แคสซินีบันทึกไว้เมื่อวันที่ 12 ส.ค.52 หลังเกิดอิควินอกซ์ไม่นาน และเป็นภาพที่ยังไม่ผ่านการตกแต่ง (นาซา)



แต่ด้วยวงโคจรที่กว้างมากของดาวเสาร์ ทำให้กว่าจะเกิดอิควินอกส์บนดาววงแหวนแต่ละครั้งต้องใช้เวลานานถึง 15 ปี

เราได้พบช่วงอิควินอกซ์บนดาวเสาร์เป็นครั้งแรกในปี 2533 และในครั้งนี้ได้พบอีกครั้ง จากภาพถ่ายของยานแคสซินีซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ และยุโรป โดย ดร.คาโรลีน พอร์โก (Dr Carolyn Porco) หัวหน้าทีมภาพถ่ายของยานแคสซินีได้กล่าวว่า การพบช่วงอิควินอกซ์อีกครั้งบนดาวเสาร์ นับเป็นการรอคอยบันทึกภาพอันยาวนานที่ไม่ผิดหวัง
ภาพเกิดเงาจากดวงจันทร์ของดาวเสาร์ทาบบนวงแหวน ก่อนเกิดอิควินอกซ์ไม่นาน โดยเห็นเงาเป็นขีดตัดกับวงแหวนด้านบน (นาซา)

"แม้ การตรวจสอบอย่างคร่าวๆ ในปรากฏการณ์ที่เผยออกมาใหม่นี้ เราก็ได้รับสิ่งที่ไม่คาดหวังมาอย่างเต็มๆ จากนี้ไปอีก 1-2 อาทิตย์ ทีมภาพถ่ายจะจดจ้องมณีอันล้ำค่านี้ เพื่อดูว่ามีเรื่องประหลาดใจอื่นอีกหรือไม่ที่รอคอยพวกเราอยู่ และโดยปกติแล้ว เราจะประกาศในสิ่งที่พวกเราพบให้เร็วที่สุดเท่าที่จะทำได้" ดร.พอร์โกกล่าว

ด้านเนชันนัลจีโอกราฟิกให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า วันอิควินอกซ์ของดาวเสาร์จะเป็นจุดเริ่มต้นให้ยานแคสซินี ได้สังเกตการเปลี่ยนแปลงฤดูกาลบนดาวเสาร์ อย่างน้อยไปจนถึงวันสุดสิ้นภารกิจคือในเดือน ก.ย. 2553
ภาพเงาของดวงจันทร์ดาวเสาร์ที่ทาบบนวงแหวนอย่างชัดเจน ทางซ้ายมือ เห็นเป็นเงาดำปลายแหลมขีดผ่าน (นาซา)

อีกทั้งช่วงเวลาสั้นๆ ของอิควินอกซ์นี้ยังทำให้นักดาราศาสตร์ได้เห็นปรากฏการณ์ที่ยากจะได้เห็น อย่างเงาของดวงจันทร์ที่ทาบลงไปบนวงแหวน ที่จะเห็นได้เฉพาะช่วงก่อนและหลังปรากฏการณ์อิควินอกซ์เท่านั้น

สำหรับยานแคสซินีนั้น ได้ส่งขึ้นไปเมื่อเดือน ต.ค. 2540 จากฐานทัพอากาศสหรัฐฯ ที่แหลมคานาเวอรัลในฟลอริดา และเดินทางไปถึงดาวเสาร์ในเดือน ก.ค.2547 แล้วเริ่มงานปฏิบัติการอันมีกำหนดยาวนาน 4 ปี เพื่อสำรวจดาวเคราะห์วงแหวนนี้พร้อมดวงจันทร์บริวาร ซึ่งตอนนี้ยานอวกาศยังคงทำงานได้ดี และได้ตั้งโปรแกรมใหม่สำหรับภารกิจใหม่ ขณะที่ภารกิจปัจจุบันได้ตอบบางคำถามที่เกิดขึ้นในช่วงต้นๆ ของการสำรวจ.
ข้อมูล ASTV

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น