เรียนท่านผู้มีอุปการะคุณ ที่เข้ามาเยี่ยมชม สมองสองซีก ตอนนี้ทางทีมงานได้ย้ายไป link ใหม่ตาม นี้ขอรับ http://g-sciences.blogspot.com ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามขอรับ

วันอาทิตย์ที่ 8 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เซลล์แสงอาทิตย์ผลิตไฟฟ้า นวัตกรรมไทยประสิทธิภาพอันดับ 1 ของโลก


ส่วน หนึ่งของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกในประเทศไทย ขนาด 1.644 MWp บนเนื้อที่ 35 ไร่ ในจังหวัดฉะเชิงเทรา ที่ดำเนินการโดย บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด


การเปลี่ยนมาใช้พลังงานสะอาดทดแทนเชื้อเพลิง ฟอสซิลและถ่านหิน เป็นยุทธวิธีสำคัญทางหนึ่งที่จะช่วยให้มนุษย์ฝ่าวิกฤตภาวะโลกร้อนไปได้ และพลังงานแสงอาทิตย์ก็เป็นหนึ่งในพลังงานทดแทน ที่หลายคนเทใจให้มากที่สุด เพราะมีแหล่งพลังงานให้มนุษย์ได้ใช้ฟรีไม่มีวันหมด ทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สะอาด และปลอดภัยอย่างแท้จริง

บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด เป็นเอกชนไทยรายแรกและรายเดียวในประเทศ ที่ดำเนินการด้านโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์อยู่ในขณะนี้ จากการวิจัยและพัฒนาเซลล์แสงอาทิตย์หรือโซลาร์เซลล์ที่มีความเหมาะสมกับสภาพ ภูมิอากาศของประเทศไทย และมีประสิทธิภาพสูงที่สุดในโลกอีกด้วย ซึ่งปัจจุบันสามารถสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศแล้วถึง 7 แห่ง และผลิตแผงโซลาร์เซลล์ส่งออกไปยังหลายประเทศในยุโรป และสหรัฐฯ


นายทิศพล นครศรี


นายทิศพล นครศรี ประธานกรรมการบริหาร บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด ให้ข้อมูลว่า บางกอกโซลาร์เป็นบริษัทที่แตกออกมาจาก บริษัท บางกอกเคเบิล จำกัด เพื่อดำเนินการวิจัย พัฒนา และผลิตแผงโซลาร์เซลล์โดยในช่วงเริ่มต้น ได้รับการสนับสนุนด้านเทคโนโลยี จากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จนสามารถผลิตแผงโซลาร์เซลล์ ชนิดอะมอร์ฟัสซิลิกอนแบบฟิล์มบาง (Amorphous Silicon Thin-Film Photovoltaic Module) ที่เหมาะสำหรับสภาพอากาศร้อนชื้นในประเทศไทยได้เอง และมีการพัฒนาแผงโซลาร์เซลล์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ทั้ง นี้ แผงโซลาร์เซลล์รุ่นล่าสุดที่พัฒนาขึ้นมีประสิทธิภาพแปลงพลังงานไฟฟ้าได้ถึง 7% นับว่าเป็นแผงโซลาร์เซลล์ชนิดอะมอร์ฟัสซิลิกอนแบบฟิล์มบาง ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในโลกด้วย

“แผงโซลาร์เซลล์ชนิดอะมอร์ฟัสซิลิกอนแบบฟิล์มบาง มีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าแผงโซลาร์เซลล์ชนิดผลึกซิลิกอน ทั้งยังผลิตไฟฟ้าได้มากกว่าที่ขนาดกำลังการผลิตเท่ากัน ทำงานได้ดีแม้ในสภาพอากาศที่มีแสงน้อย ท้องฟ้ามีเมฆมาก หรือแม้แต่ช่วงฝนตก ซึ่งสามารถทำงานได้ตลอดช่วงเวลากลางวัน”


นายพดด้วง คงคามี


“ประสิทธิภาพการผลิตไฟฟ้าสูงสุดในช่วงเวลาประมาณ 10.00-15.00 น. ขณะที่หากเป็นแผงโซลาร์เซลล์ชนิดอื่นจะทำงานได้ในช่วงเวลาดังกล่าว และจะหยุดทันทีที่แสงน้อยเกินไป" นายทิศพลอธิบายขณะเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ จ.ฉะเชิงเทรา


แผงโซลาร์เซลล์ชนิดอะมอร์ฟัสซิลิกอนแบบฟิล์มบางที่พัฒนาโดยคนไทย เหมาะสำหรับสภาพอากาศร้อนชื้นในประเทศไทย


ทั้งนี้ บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ เริ่มก่อตั้งโรงงานผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของประเทศไทยในปี 2549 ด้วยกำลังการผลิต 1.644 MWp (เมกกะวัตต์) จากการติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์มากกว่า 40,000 แผง บนพื้นที่ 35 ไร่ใน อ.บางปะกง จ. ฉะเชิงเทรา ด้วยเงินลงทุนราว 180 ล้านบาท และเริ่มผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในปี 2550 โดยใช้เครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าชนิดต่อเชื่อมสายส่ง ที่วิจัยและพัฒนาโดย บริษัท ลีโอนิคส์ จำกัด ของคนไทย


กระแส ไฟฟ้าที่โซลาร์เซลล์ผลิตได้จะถูกส่งมายังเครื่องแปลงกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งต่อ เข้ากับสายส่งของการไฟฟ้า (ภาพจาก บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด)


ต่อมาได้ขยายการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ไปในจังหวัดอื่นๆ อีก 4 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี อ่างทอง เพชรบุรี และนครสวรรค์ ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์รวมทั้งสิ้น 7 โรง และมีกำลังการผลิตรวมทั้งหมด 7.318 MWp

ไฟฟ้าที่ผลิตได้ ทางโรงงานได้ขายให้กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคทั้งหมดในราคา 12 บาทต่อหน่วย จากต้นทุนการผลิตประมาณ 12 บาทต่อหน่วย ซึ่งจะคุ้มทุนในระยะเวลา 10 ปี ส่วนแผงโซลาร์เซลล์ที่พัฒนาขึ้นนั้น มีอายุการใช้งานประมาณ 25 ปี


ภาพ ถ่ายมุมสูงของโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แห่งแรกของประเทศไทยใน จ.ฉะเชิงเทรา กำลังการผลิต 1.644 MWp (ภาพจาก บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด)


นอกจากนี้ บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ กำลังอยู่ระหว่างการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มขึ้นอีกใน จ.ลพบุรี ที่กำลังการผลิต 2.208 MWp และจะสร้างเพิ่มขึ้นอีกแห่งในจังหวัดเดียวกัน ให้มีกำลังการผลิตราว 11 MWp

ด้านนายพดด้วง คงคามี ผู้จัดการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า จากแผนพัฒนาพลังงาน 15 ปี ที่กำหนดไว้ว่า ประเทศไทยจะต้องพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ให้ได้ 500 MWp ภายในปี 2565 ทำให้บางกอกโซลาร์จึงมีแผนการที่จะขยายโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภายใน ประเทศให้เป็น 60 MWp ภายในปี 2555 โดยการบริหารงานของบางกอกโซลาร์ และอีก 100 MWp โดยการร่วมทุนกับบริษัทต่างชาติ รวมถึงการรับจ้างผลิตแผงโซลาร์เซลล์ให้กับบริษัทอื่น ที่สนใจลงทุนด้านโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ภายในประเทศอีก 150 MWp


โรง ไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จ.เพชรบุรี กำลังการผลิต 2.193 MWp ซึ่งใหญ่ที่สุดในประเทศไทยขณะนี้ (ภาพจาก บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด)


ทั้งนี้ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ขนาด 1 MWp จะมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 110 ล้านบาท ใช้แผงโซลาร์เซลล์ขนาด 50 วัตต์ จำนวน 20,000 แผง บนพื้นที่ประมาณ 25 ไร่ และสำหรับพื้นที่ ที่เหมาะสมต่อการตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ควรเป็นพื้นที่ที่ได้รับแสงอาทิตย์ประมาณ 1,800-1,900 ชั่วโมงต่อปี เช่น พื้นที่ในจังหวัดอุดรธานี, สระบุรี, ลพบุรี และ อ่างทอง เป็นต้น


โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จ.อุดรธานี กำลังการผลิต 1.591 MWp (ภาพจาก บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด)


"ด้วยเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง เชื่อแน่ว่าในระยะเวลาอีกประมาณ 10 ปีข้างหน้า ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์จะมีราคาถูกลงอย่างแน่นอน และอาจถูกลงจนเท่ากับโรงไฟฟ้าถ่านหินในปัจจุบันก็ได้ อีกทั้งยังช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมและลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศได้ อย่างมีประสิทธิภาพ" นายทิศพลกล่าว


โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ จ.อ่างทอง กำลังการผลิต 1.136 MWp (ภาพจาก บริษัท บางกอกโซลาร์ พาวเวอร์ จำกัด)


แม้ขณะนี้ ต้นทุนการผลิตแผงโซลาร์เซลล์ยังมีราคาสูงอยู่มาก อีกทั้งต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ยังสูงกว่าโรงไฟฟ้าถ่านหิน หรือน้ำมันเชื้อเพลิง แต่ทั่วโลกก็กำลังให้ความสนใจ และผลักดันให้ใช้พลังงานแสงอาทิตย์มากขึ้น เพราะเป็นพลังงานทดแทนที่มีศักยภาพสูง เป็นพลังงานสะอาดที่คนทั่วไปยอมรับกันมากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับพลังงานนิวเคลียร์ที่ยังมีปัญหาเรื่องการกำจัดกากนิวเคลียร์.
Thak data ASTV manager online

2 ความคิดเห็น:

F23 กล่าวว่า...

โครงการดี ๆ อย่างนี้ น่าจะให้ค่า adder มาก ๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจ อย่างไรเสียก็ระวัง โดนเตะตัดขาจากมาเฟียที่ค้าพลังงานด้านอื่น โดยเฉพาะนักการเมืองไทย

ไม่ระบุชื่อ กล่าวว่า...

ผมไปเห็นที่คลองหลวง เขาทำระบบ Solar รุ่นที่มีประสิทธิภาพได้ถึง 30 %
บริษัท ชาติเศวต กรุ๊ป ลองไปดูซิครับ คนไทยทำเองจริงๆ

แสดงความคิดเห็น