เรียนท่านผู้มีอุปการะคุณ ที่เข้ามาเยี่ยมชม สมองสองซีก ตอนนี้ทางทีมงานได้ย้ายไป link ใหม่ตาม นี้ขอรับ http://g-sciences.blogspot.com ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามขอรับ

วันอาทิตย์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2552

ดูนัยน์ตาแห่งหายนะ "ลูปี๊ต" ไต้ฝุ่นโหดระดับ 4


ภาพ จำลองของ TSR โดยใช้ข้อมูลดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา MTSAT เวลา20.30 น.วันอาทิตย์ (18 ต.ค.) นี้ ไต้ฝุ่นลูปี๊ต (Lupit) เผยให้เห็นนัยน์ตารูเข็มอันน่าชิงชังของมัน ขณะเร่งความเร็วอยู่ในระดับ C4 ปั่นไอน้ำให้พวยพุ่งอยู่ในเขตทะเลฟิลิปปินส์ และทั่วอาณาบริเวณเขตแปซิฟิกตะวันตกเฉียงเหนือ "นัยน์ตาแห่งพายุ" หรือ Eye of Storm เป็นสิ่งบอกความเร็วใกล้จุดศูนย์กลางของพายุแต่ละลูก โดยปกติทั่วไป พายุยิ่งแรง "รูเข็ม" ยิ่งเล็ก


ไต้ฝุ่นลูปี๊ตได้เร่งความเร็วขึ้นเป็นระดับ 4 ในบ่ายวันอาทิตย์ (18 ต.ค.) นี้ และ ได้เปิดเผยให้เห็นนัยน์ตาเล็กๆ แบบ "ตาเข็ม" (Needle Eye) ของมัน ณ จุดศูนย์กลาง ซึ่งได้แสดงให้เห็นถึงความเร็วและแรงที่ไม่ปกติธรรมดา นักพยากรณ์ในฟิลิปปินส์กล่าวว่า ลูปี๊ตอาจจะปั่นความเร็วกับความแรงขึ้นสู่ระดับ 5 ในไม่ช้า

"ระดับ 5" หรือ C5 (Category 5) หมายถึงความหายนะ ไต้ฝุ่นระดับนี้มีสามารถทำให้เกิดพายุรอบๆ พัดเร็วและรุนแรงถึง 250 กม./ชม. สามารถทำลายทุกสิ่งที่ขวางทางให้เป็นจุลมหาจุลในพริบตา

ลูปี๊ต เป็นคำในภาษาตากาลอก (Tagalog) หรือภาษาท้องถิ่นของชาวฟิลิปปินส์ มีความหมายตรงตามตัวว่า "โหดร้าย" และ "รุนแรง" ก่อตัวขึ้นเห็นได้ชัดเจนในวันที่ 14-15 ต.ค. และสามารถ ทวีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางขึ้นเป็นไต้ฝุ่นระดับ 1 หรือ C1 (Category 1) ในวันที่ 16 และ เร่งตัวเองขึ้นสู่ระดับ 4 ได้ในอีก 2 วันถัดมา

ในวันอาทิตย์เช่นกัน ฟิลิปปินส์ซึ่งกำลังจะเป็นด่านแรกในการทดสอบพลังของไต้ฝุ่นลูปี๊ต ได้จัดส่งทีมกู้ภัยฉุกเฉินขึ้นเหนือพร้อมสิ่งบรรเทาทุกข์ สภาประสานความร่วมมือกอบกู้วิบัติภัยแห่งชาติ หรือ NDCC (National Disaster Coordinating Council) กล่าวว่า คนกับสิ่งของซึ่งรวมทั้งอาหาร ยารักษาโรค ผ้าคลุมกันฝน ถูกส่งไปเพิ่มตาม "พื้นที่ยุทธศาสตร์" ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยจากพายุป้าหม่า

สำนักงานอุตุนิยมวิทยาฟิลิปปินส์กล่าวในบ่ายวันอาทิตย์ว่า ไต้ฝุ่นลูปี๊ตได้ทวีความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางขึ้นถึง 175 กม./ชม และ ทำให้เกิดลมแรงมหาศาลถึง 210 กม./ชม. ในอาณาบริเวณห่างจากแผ่นดินราว 1,000 กม. และ มีทิศทางเคลื่อนตัวเบนไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อย แต่เชื่อว่าจะเบนหัวกลับทิศการเคลื่อนตัวไปทางตะวันตก สู่ทะเลจีนใต้ในอีก 12 ชั่วโมงข้างหน้า

“ผู้ที่อยู่ในจุดที่ยากลำบากในการเข้าถึงต่างๆ ควรจะอพยพออกมาเสียตั้งแต่ยังมีเวลาอยู่.. การช่วยเหลือจะยุ่งยากมากเมื่อเกิดพายุอีก” นายปริสโก นิโล (Prisco Nilo) ผู้อำนวยการศูนย์อุตุนิยมวิทยา กล่าวระหว่างแถลงข่าว



ภาพ จำลองของสำนักงานอุตุนิยมวิทยาแห่งญี่ปุ่นที่ใช้ข้อมูลดาวเทียม MTSAT ดวงเดียวกัน เมื่อเวลา 19.00 น.วันอาทิตย์ (18 ต.ค.) ก็ออกมาไม่ต่างกัน ลูปี๊ตแสดงนัยน์ตารูเข็มแห่งความโหดร้ายของมัน ขณะที่กำลังปั่นไอน้ำคละคลุ้งคลุมอาณาบริเวณกว้างตั้งแต่ทะเลฟิลิปปินส์ขึ้น ไปจนเกือบจะถึงเขตทะเลญี่ปุ่น

พ.อ.เออร์เนสโต ตอร์เรส (Ernesto Torres) โฆษกสภาประสานงานกู้ภัยพิบัติแห่งชาติกล่าวเตือนทำนองเดียวกันว่า ราษฎรที่กลับภูมิลำเนาในพื้นที่เสี่ยงภัยแห่งต่างๆ ในสัปดาห์ที่ผ่านมา ควรจะรีบออกไป เพื่อให้พ้นอันตรายดินเลื่อน ดินถล่มและน้ำป่าไหลหลาก ที่อาจจะเกิดจากไต้ฝุ่นลูปี๊ต

ในวันเสาร์ (ตรงกับวันอาทิตย์ตามเวลาในโซนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้) ศูนย์เตือนภัยไต้ฝุ่นร่วม (Joint Typhoon Warning Center) ของกองทัพสหรัฐฯ ที่อ่าวเพิร์ล รัฐฮาวาย ได้พยากรณ์ ไต้ฝุ่นลูกนี้จะเคลื่อนตัวผ่านปลายสุดของเกาะลูซอน (Luzon) ซึ่งเป็นเกาะใหญ่ที่อยู่เหนือสุดในกลางสัปดาห์หน้า และ เคลื่อนเข้าทะเลจีนใต้หลังจากนั้น

แผนภูมิที่ใช้ขอมูลดาวเทียมที่จัดทำโดย JTWC ได้แสดงให้เห็นไต้ฝุ่นลูปี๊ตในเขตทะเลฟิลิปปินส์ ในวันอาทิตย์ (18 ต.ค.) นี้ ขณะเคลื่อนตัวไปทางตะวันออกเฉียงเหนือเล็กน้อยด้วยความเร็ว 26 กม./ชม. และ แผนภูมิที่จัดทำโดยศูนย์เตือนความเสี่ยงจากพายุโซนร้อน (Tropical Storm Risk) ในกรุงลอนดอนก็ได้แสดงทิศทางการเคลื่อนตัวในทางเดียวกัน

สำนักพยากรณ์ชั้นนำทั้งสองแห่งกล่าวว่า ในวันจันทร์ (19 ต.ค.) ไต้ฝุ่นลูปี๊ตจะเริ่มหันหัวไปทางตะวันตก และเคลื่อนผ่านปลายสุดของเกาะลูซอนในราววันพฤหัสบดี (22 ต.ค.) และ เคลื่อนเข้าทะเลจีนใต้ในวันรุ่งขึ้น

ศูนย์อุตุนิยมวิทยาและอุทกศาสตร์กลางเวียดนามได้ออกเตือนเกี่ยวกับ โอกาสที่ไต้ฝุ่นลูปี๊ตจะพัดเข้าถึงฝั่งอีกลูกหนึ่งในช่วงสุดสัปดาห์หน้า เพราะว่าโอกาสที่พายุจะเคลื่อนขึ้นเหนือ ผ่านเกาะไต้หวันเข้าสู่แผ่นดินใหญ่จีนเช่นไต้ฝุ่นมรกต (Morakot) ในเดือน ส.ค.ที่ผ่านมามีน้อยลง


ภาพ จำลองโดยใช้ข้อมูลของดาวเทียมเอเชียแส็ท (ASIASAT) ก็ไม่ได้ต่างกัน ลูปี๊ตโชว์นัยน์ตาแห่งพายุรูปรูเข็ม ขณะอาละวาดครอบคลุมบริเวณกว้างในเขตทะเลฟิลิปปินส์เมื่อเวลา 18 น.วันอาทิตย์ (18 ต.ค.) นี้




ย้อนหลังไปเพียงวันเดียว คือเมื่อวันเสาร์ (17 ต.ค.) ลูปี๊ต ยังไม่ได้โผล่นัยน์ตารูเข็มของมันออกมาให้เห็น ขณะที่กำลังรเร่งความเร็วจากไต้ฝุ่นระดับ 1 ขึ้นเป็นระดับ 2 ยังไม่แรงพอ ที่จะมองเห็นนัยน์ตาแห่งพายุได้จากห้วงหาว

ในฟิลิปปินส์ ลูปี๊ตกำลังจะทำให้เกิดฝนตกหนักในภาคเหนือ ในบริเวณเดิมที่ไต้ฝุ่นสองลูกคือ "อันดอย" (Andoy) หรือ เกดสะหนา (Ketsana) กับ "ปีเป็ง" (Pepeng) หรือ ป้าหม่า (Parma) พัดเข้าถล่มในช่วงกลางเดือน ก.ย. ถึงต้นเดือน ต.ค.นี้ และ ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกันราวกว่า 900 คน รวมทั้งในเมืองหลวงมะนิลาด้วย ทั้งนี้เป็นตัวเลขรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี

ส่วนในเวียดนาม ต้นสัปดาห์ที่ผ่านมาพายุป้าหม่าเพิ่งพัดเข้าทำความเสียหายให้แก่บ้านเรือน ราษฎรและจมเรือประมงในเขต จ.กว๋างนีง (Quang Ninh) ที่อยู่ติดชายแดนจีนกับในนครหายฟ่อง (Hai Phong) ในเวลาต่อมา ซ้ำเติมความบอบช้ำที่ไต้ฝุ่นเกดสะหนาทิ้งเอาไว้ตั้งแต่สัปดาห์สิ้นเดือน ก.ย.

ตามรายงานของหนังสือพิมพ์เวียดนามนิวส์ พายุป้าหม่าได้พัดเข้าสร้างความเสียหายใน อ.เกาะบาหวี (Ba Vy) ร้อยละ 80 ของบ้านเรือนราษฎรในอำเภอเกาะแห่งนี้ถูกทำลายยับเยิน ก่อนจะเคลื่อนขึ้นฝั่งอีกครั้งหนึ่ง อ่อนตัวลงเป็นดีเปรสชั่น และสลายตัวไปขณะเคลื่อนผ่านที่ราบปากแม่น้ำแดงทางตอนใต้ของกรุงฮานอย

เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ เวียดนามยังคงเยียวยารักษาบาดแผลในหลายจังหวัดภาคกลางที่ไต้ฝุ่นเกดสะหนา ซึ่งมีความแรงระดับ C2 พัดทำลายระหว่างวันที่ 28-29 ก.ย.


ภาพ เอเอฟพีวันที่ 18 ต.ค.2552 คุณแม่สองคนนี้ต้องดูแลลูกๆ ในเต็นท์พักพิงชั่วคราว ที่ทางการตั้งขึ้นในเขตชานนครมะนิลา หลังจากบ้านเรือนถูกไต้ฝุ่นเกดสะหนาทำลายราบในปลายเดือน ก.ย. ปัจจุบันยังมีชาวฟิลิปปินส์นับหมื่นๆ ไร้ที่อยู่ ขณะที่ไต้ฝุ่นลูปี๊ต (Lupit) ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็วและแรงมาก คาดว่าจะเคลื่อนผ่านตอนเหนือของประเทศอีกลูกหนึ่งกลางสัปดาห์นี้.





ภาพ เอเอฟพีวันที่ 17 ต.ค.2552 ชาวฟิลิปปินส์ในเขตเมืองปาสิก (Pasik) ชานนครมะนิลา กำลังเดินข้ามถนนโดยใช้ "สะพานลอย" ที่ทำขึ้นชั่วคราว เพื่อไม่ต้องเดินลุยน้ำเบื้องล่าง ไต้ฝุ่ยเกดสะหนากับป้าหม่าทำให้เกิดฝนตกหนัก น้ำในแม่น้ำปาสิกเอ่อขึ้นท่วมเมืองหลวงมาตั้งแต่ปลายเดือนที่แล้ว




แต่ ในทุกวิกฤตมีโอกาสแฝงอยู่ อุทกภัยจากไต้ฝุ่นที่เกิดซ้ำซาก ได้ทำให้เกิดรถรับจ้างสายพันธุ์ใหม่ขึ้นมาอย่างที่เห็นในภาพของเอเอฟพี ซึ่งถ่ายเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2552 ในเขตเมืองปาสิก ชานนครมะนิลา เป็นการะประดิษฐ์สร้างเพื่อเอาชนะภัยธรรมชาติที่เลี่ยงไม่ได้

thank News data ASTV

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น