เรียนท่านผู้มีอุปการะคุณ ที่เข้ามาเยี่ยมชม สมองสองซีก ตอนนี้ทางทีมงานได้ย้ายไป link ใหม่ตาม นี้ขอรับ http://g-sciences.blogspot.com ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามขอรับ

วันอังคารที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2553

ยานแคสสินีเผยภาพน้ำพุมากมายบนดวงจันทร์ “เอนเซลาดัส” ของดาวเสาร์



ภาพน้ำพุบนดวงจันทร์ "เอนเซลาดัส" ของดาวเสาร์ บริเวณขั้วใต้ ซึ่งมีทั้งน้ำพุขนาดใหญ่และขนาดเล็ก บันทึกโดยกล้องของยานแคสสินี ของนาซา (สเปซด็อทคอม)       

ภาพใหม่จากยานแคสสินีเผยน้ำพุมากมายบน “เอนเซลาดัส” ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ มากกว่าที่เคยพบมาก่อน พร้อมภาพ 3 มิติ “ลายเสือ” แสดงรอยแยกที่มีอนุภาคน้ำแข็ง ไอน้ำ และสารประกอบอินทรีย์อื่นๆ พุ่งออกมา และยังบันทึกภาพบริเวณที่ไม่เคยสำรวจมาก่อน


       “เอนเซลาดัสยังคงสร้างความประหลาดใจต่อเนื่อง ทุกครั้งที่ยานแคสสินีบินผ่าน เราก็ได้เรียนรู้เกี่ยวกับความเคลื่อนไหวสุดขั้วและสิ่งที่ทำให้ดวงจันทร์ นี้เป็นสิ่งแปลก” ไซน์เดลีระบุคำพูดของ บ็อบ แพพพาลาร์โด (Bob Pappalardo) นักวิทยาศาสตร์ในโครงการแคสสินีจากห้องปฏิบัติการจรวดขับเคลื่อนความดัน (Jet Propulsion Laboratory) ขององค์การบริหารการบินอวกาสหรัฐฯ (นาซา)
   
       ทั้งนี้กล้องบันทึกภาพด้วยแสงของยานแคสสินี (Cassini) ได้บินผ่านขั้วใต้ของ “เอนเซลาดัส” (Enceladus) ดวงจันทร์ของดาวเสาร์ เมื่อวันที่ 21 พ.ย.2009 และได้ส่งภาพพร้อมรายละเอียดล่าสุดก่อนที่บริเวฯดังกล่าวจะหายเข้าไปในเงา มืดของดวงจันทร์เองเป็นเวลาถึง 15 ปี
   
       ภาพที่บันทึกใหม่นี้ยังให้มุมมอง 3 มิติ “ลายเสือ” ซึ่งเป็นรอยแยกของอนุภาคน้ำแข็ง ไอน้ำ และองค์ประกอบอินทรีย์ที่พวยพุ่งออกมา รวมทั้งยังให้ภาพแผนที่พื้นผิวบางส่วนของเอนเซลาดัสที่ละเอียดกว่าภาพที่ได้ จากการบินผ่านก่อนนี้ของยานแคสสินี โดยใน1 ภาพที่ต่อกันแบบโมเสค (mosaic) ซึ่งบันทึกด้วยกล้องมุมแคบ ที่มีความละเอียดสูง มีน้ำพุที่พุ่งออกมาถึง 30 จุด อีกทั้งมากกว่า 20 จุดไม่เคยได้รับการจำแนกมาก่อน
   
       “การบินผ่านครั้งล่าสุดนี้ ได้ยืนยันในสิ่งที่เราสงสัย” สเปซด็อทคอมรายงานคำอธิบายของ คาโรลิน ปอร์โก (Carolyn Porco) หัวหน้าทีมบันทึกภาพของยานแคสสินี จากสถาบันอวกาศวิทยา (Space Science Institute) สหรัฐฯ ซึ่งระบุด้วยว่าพลังงานของน้ำพุนั้นผันเปลี่ยนไปตามเวลา และน้ำพุหลายแหล่งทั้งเล็กและใหญ่ปะทุตามแนวเส้นลายเสือ
   
       นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์ยังได้ผสมภาพที่บันทึกในย่านแสงที่ตามองเห็นได้เข้ากับข้อมูล ความร้อน เพื่อทำแผนที่ของแถบลายเสือที่ยาวที่สุด 40 กิโลเมตร ที่เรียกว่า “แบกแดดซัลคัส” (Baghdad Sulcus) โดยแผนที่ดังกล่าว จะแสดงให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างรอยแยกอายุน้อยกับอุณหภูมิที่ร้อนผิดปกติ ซึ่งบันทึกได้จากพื้นที่บริเวณขั้วใต้
   
       ทั้งนี้ตลอดพื้นที่ของแบกแดดซัลคัสมีอุณหภูมิสูงเกิน -93 องศาเซลเซียส และบางครั้งอาจจะสูงกว่า –73 องศาเซลเซียส ซึ่งอุณหภูมิระดับนี้ ถือว่าเป็นอุณหภูมิที่สูงสำหรับแบกแดดซัลคัส และอาจเป็นอุณหภูมิที่มีผลมาจากความร้อนของรอยแยก ที่ขนาบข้างด้วยไอน้ำร้อนที่ขับเคลื่อนน้ำพุของดวงจันทร์แห่งดาวเสาร์ดวงนี้
   
       จอห์น สเปนเซอร์ (John Spencer) สมาชิกทีมตรวจวัดย่านอินฟราเรด จากสถาบันวิจัยเซาท์เวสต์ (Southwest Research Institute) สหรัฐฯ อธิบายว่า รอยแยกนี้ถือว่าหนาวเหน็บเมื่อเทียบกับโลก แต่ถือวาเป็นอุณหภูมิที่ร้อนสำหรับพื้นที่โดยรอบของรอยแยกซึ่งมีอุณหภูมิต่ำ ถึง -220 องศาเซลเซียส และปริมาณความร้อนมหาศาลที่พุ่งออก
   
       สำหรับการบินผ่านของยานแคสสินีเมื่อปลายปีที่ผ่านมานั้น เป็นการเข้าใกล้เอนเซลาดัสครั้งที่ 8 ในระยะ 1,600 กิโลเมตร ซึ่งพื้นที่ที่เพียงสำรวจนี้จะเข้าสู่ความมืดไปอีก 15 ปี ส่วนยานสำรวจจากนาซาลำนี้ได้รับเวลาขยายการปฏิบัติหน้าที่ออกไปถึงปี 2017 และมีกำหนดบินผ่าน เพื่อสำรวจดวงจันทร์เอนเซลาดัสถูกยืดออกไปเป็น 11 ครั้งเช่นกัน ทำให้มีโอกาสมากขึ้นในการสำรวจดวงจันทร์น้ำแข็งนี้
   
       ทั้งนี้แคสสินีถูกส่งขึ้นไปตั้งแต่ปี 1997 และเดินทางไปโคจรรอบดาวเสาร์ตั้งแต่ปี 2004

ภาพมุมกว้างของขั้วใต้ดวงจันทร์ บันทึกโดยยานแคสสินี (สเปซด็อทคอม)

ภาพโมเสคหรือภาพต่อของพื้นผิว บริเวณ "แบกแดด ซัลคัส" ซึ่งรอยแยกที่เห็นเป็นลายเสือนั้นมีน้ำพุจำนวนมาก (สเปซด็อทคอม)
 ข้อมูลโดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น