เรียนท่านผู้มีอุปการะคุณ ที่เข้ามาเยี่ยมชม สมองสองซีก ตอนนี้ทางทีมงานได้ย้ายไป link ใหม่ตาม นี้ขอรับ http://g-sciences.blogspot.com ขอขอบพระคุณทุกท่านที่ติดตามขอรับ

วันอังคารที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2553

พบอีก 2 ดวง สัญญาณ “ซูเปอร์เอิร์ธ” ดาวเคราะห์คล้ายโลก

นักวิทยาศาสตร์พบสัญญาณ “ซูเปอร์เอิร์ธ” 2 ดวง โคจรรอบรอบดาวฤกษ์ขนาดพอๆ กับดวงอาทิตย์ หนึ่งในนั้นเป็นดาวเคราะห์หินนอกระบบสุริยะขนาดเล็กสุดที่เคยพบ มีมวลมากกว่าโลก 5 เท่า

ภาพจำลองระบบสุริยะ ทั้งนี้นักดาราศาสตร์เพิ่งพบสัญญาณของ "ซูเปอร์เรธ" ดาวเคราะห์ที่มีมวลมากกว่าโลกไม่กี่เท่า (บีบีซีนิวส์)

“ซูเปอร์เอิร์ธ” ที่พบนี้ คือดาวเคราะห์หินที่มีขนาดใหญ่กว่าโลก แต่ก็เล็กกว่าดาวน้ำแข็งอย่างยูเรนัส (Uranus) และเนปจูน (Neptune) ในระบบสุริยะที่มีมวลมากกว่าโลก 15 เท่า ซึ่งการค้นพบสัญญาณของดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะครั้งนี้ บีบีซีนิวส์รายงานคำพูดของนักวิทยาศาสตร์ที่ค้นพบว่า จะเป็นอีกก้าว ไปสู่การค้นหาดาวเคราะห์ที่สิ่งมีชีวิตสามารถอาศัยอยู่ได้ และเป็นดาวเคราะห์ที่คล้ายโลก

การค้นพบครั้งนี้ เป็นการศึกษาระดับนานาชาติที่นำโดยนักวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ 2 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มของ พอล บัทเลอร์ (Paul Butler) จากภาควิชาแม่เหล็กภาคพื้นของสถาบันคาร์เนกี (Carnegie Institution) ในวอชิงตัน สหรัฐฯ และ สตีเฟน วอกท์ (Steven Vogt) จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียในซานตาครูซ (University of California, Santa Cruz)

รายละเอียดของการค้นพบนั้น ได้เผยแพร่ในวารสารแอสโทรฟิสิคัลเจอร์นัล (Astrophysical Journal) โดยในกลุ่มของบัทเลอร์นั้น ได้พบหลักฐานของดาวเคราะห์ที่มีมวลต่ำ 3 ดวง ซึ่งโคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ชื่อ “61 เวอร์จินิส” (61 Virginis) ที่อยู่ห่างจากโลก 28 ปีแสง และมองเห็นได้ด้วยตาเปล่าในกลุ่มดาวหญิงสาว (Virgo)

ด้านสเปซดอทคอมรายงานข้อ มูลของคริส ทินนีย์ (Chris Tinney) สมาชิกทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนิวเซาท์เวลส์ (University of New South Wales) ซึ่งวิเคราะห์มวลขั้นต่ำของดาวเคราะห์ที่พบว่า ดาว 61 เวอร์บี (61 Vir b) มีมวล 5.1 เท่าของโลก ดาว 61 เวอร์ซี (61 Vir c) มีมวล 18 เท่าของโลก และดาว 61 เวอร์ดี (61 Vir d) มีมวล 23 เท่าของโลก

“สำหรับ ดาวเคราะห์ดวงเล็กสุดนั้น มีมวลอยู่ในช่วงดาวซูเปอร์เอิร์ธ และเป็นดาวเคราะห์คล้ายโลกดวงแรกที่พบว่าโคจรรอบๆ ดาวฤกษ์คล้ายดวงอาทิตย์” ทินนีย์ระบุ ซึ่งซูเปอร์เอิร์ธดวงอื่นๆ ก่อนหน้านี้พบว่าโคจรอยู่รอบดาวฤกษ์ที่เย็นกว่าและมีสีแดงกว่าดวงอาทิตย์ของเรา

นับว่าการค้นพบครั้งนี้ เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นมาก เนื่องจากหากเราต้องการค้นหาดาวเคราะห์อื่นที่อาศัยอยู่ได้ ทินนีย์กล่าวว่าเราต้องหาดาวเคราะห์มวลต่ำที่อยู่ในระบบดาวฤกษ์คล้ายๆ กับระบบสุริยะของเรา

ทั้งนี้ ทีมวิจัยทั้ง 2 กลุ่ม อาศัยข้อมูลที่เก็บรวบรวมมาหลายปีจากหอดูดาวดับเบิล ยู เอ็ม เคค (W M Keck Observatory) ในฮาวาย สหรัฐฯ และกล้องโทรทรรศน์แองโกล-ออสเตรเลียน (Anglo-Australian Telescope) ในนิว เซาท์ เวลส์ ออสเตรเลีย โดยอาศัยวิธีการวัดความเร็วในแนวรัศมี (radial velocity) หรือเทคนิควอบเบิล (wobble) ซึ่งเป็นเทคนิคตรวจวัดการส่ายเล็กๆ ของดวงดาว ที่เกิดจากการกระตุกด้วยแรงโน้มถ่วงของดาวเคราะห์ที่โคจรอยู่รอบๆ อีกทั้งนักวิจัยยังวัดขนาดและการโคจรของดาวเคราะห์แต่ละดวงได้

ทางบัทเลอร์ได้เสริมว่า สัญญาณจากซูเปอร์เอิร์ธดวงเล็กสุดที่ตรวจพบนั้นบ่งชี้ว่าเป็นดาวเคราะห์นอก ระบบสุริยะดวงเล็กที่สุดเท่าที่เคยพบ และมีคาบโคจรรอบดาวฤกษ์ของตัวเองทุกๆ 4 วัน แต่ก็ต้องมีความรอบคอบอย่างมากก่อนที่จะประกาศการค้นพบนี้ได้

“สิ่ง ที่ทำให้เรามั่นใจคือ เราได้เห็นสัญญาณจากกล้องโทรทรรศน์สองตัวที่อยู่คนละฟากของโลก และสัญญาณจาก 2 แหล่งก็ตรงกันอย่างพอดิบพอดี” บัทเลอร์กล่าว

อีก การค้นพบล่าสุดคือระบบดาวฤกษ์ เอชดี 1461 (HD 1461) ซึ่งอยู่ห่างจากโลก 76 ปีแสง และเห็นได้ด้วยตาเปล่าในช่วงหัวค่ำหากท้องฟ้ามืดสนิท โดยได้พบหลักฐานที่ชัดเจนของดาวเคราะห์ที่มีมวลมากกว่าโลก 7.5 เท่า ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังไม่แน่ใจนักว่าดาวดวงนี้คือภาคขยายของโลก ซึ่งมีองค์ประกอบของหินและเหล็กหรือไม่ และยังพบสัญญาณที่อาจเป็นดาวเคราะห์อีก 2 ดวงด้วย

ดาวฤกษ์ทั้งสองที่เป็นแหล่งค้นพบดาวเคราะห์ใหม่ครั้งนี้ มีความคล้ายคลึงกับดวงอาทิตย์ทั้งขนาดและอายุ แต่ดาวเคราะห์ที่ค้นพบก็อยู่ใกล้กับดาวฤกษ์ของตัวเองมากเกินกว่าจะเอื้อต่อ สิ่งมีชีวิตหรือยังคงให้มีน้ำหลงเหลืออยู่ได้

หากแต่ บัทเลอร์กล่าวว่าพวกเขาได้พบดาวเคราะห์ดวงอื่นที่มีวงโคจรคล้ายกันนี้รอบๆ ดาวฤกษ์ “เอ็ม-ดวาร์ฟ” (M-dwarfs) ดาวฤกษ์ที่เล็กกว่าดวงอาทิตย์ครึ่งหนึ่ง ซึ่งดาวเคราะห์เหล่านั้นเป็นดาวเคราะห์ที่เต็มไปด้วยน้ำ จึงเป็นไปได้ว่าเราอาจจะพบดาวเคราะห์ที่เอื้อต่อสิ่งมีชีวิต

ส่วนวอกท์กล่าวว่า การค้นพบครั้งนี้ชี้ว่า ดาวเคราะห์มวลต่ำอาจจะมีอยู่ในระบบดาวฤกษ์ที่อยู่ใกล้กับโลกและอยู่ห่างออก ไปไม่กี่ปีแสง
โดย ASTVผู้จัดการออนไลน์

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น